วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

บทที่ 4 เรื่องทิศทางการถ่ายทอดข้อมูล

                                4.3 ทิศทางการถ่ายทอดสัญญาณ               อุปกรณ์สื่อสารที่นำมาใช้งานร่วมกับสายสัญญาณจะเป็นตัวบังคับให้ข้อมูลถูกถ่ายทอดออกไปยังเป้าหมายที่ต้องการ การถ่ายทอดหรือการที่ข้อมูลถูกส่งออกไปทางสายสื่อสารจะต้องได้รับการกำหนดขั้นตอนที่แน่นอนเพื่อที่ผู้ส่งจะได้ทราบว่าเมื่อใดจึงจะส่งข้อมูลออกไป และส่งออกไปอย่างไร ส่วนทางผู้รับก็จะได้ทราบว่าข้อมูลจะมาถึงเมื่อใดและจะนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างไร การกำหนดขั้นตอนเหล่านี้สามารถควบคุมได้ในหลายระดับ ในระดับล่างสุดที่ติดต่อกับอุปกรณ์โดยตรงมีวิธีการควบคุมทิศทางการส่งข้อมูล (Transmission Direction) สามวิธีคือแบบทิศทางเดียว แบบกึ่งสองทิศทาง และแบบสองทางสมบูรณ์
                              4.3.1 การถ่ายทอดสัญญาณแบบทิศทางเดียว       การควบคุมทิศทางการส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียว (Simplex Transmission) ยอมให้มีการส่งข้อมูลจากผู้ส่งไปยังผู้รับเท่านั้น ทางฝั่งผู้รับไม่สามารถส่งข้อมูลย้อนกลับมายังผู้ส่งได้ การไหลของน้ำออกทางท่อประปาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ท่อประปาเปรียบเสมือนสายสื่อสารโดยมีก๊อกเป็นอุปกรณ์สื่อสาร และน้ำคือข้อมูลที่ถูกส่งออกมาจากโรงงานผลิตน้ำประปา จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ใช้น้ำประปา เปิดก๊อก น้ำก็จะไหลออกมาซึ่งจะหยุดก็ต่อเมื่อปิดก็อกหรือโรงผลิตน้ำประปาหยุดส่งน้ำ ส่วนผู้ใช้น้ำประปาเองก็ไม่สามารถที่จะส่งน้ำกลับไปยังโรงผลิตน้ำประปาได้ การส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียวก็มีวิธีการทำงานเช่นเดียวกัน อุปกรณ์บางชนิด เช่น จอภาพ CRT เชื่อมต่อเข้ากับโฮสต์แบบทิศทางเดียว ข้อมูลจากโฮสต์จะถูกส่งมาแสดงบนจอภาพได้ แต่ตัวจอภาพเองไม่สามารถส่งข้อมูลใด ๆ กลับไปยังโฮสต์ได้
                              ตัวอย่างการส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียวกันได้แก่ การถ่ายทอดข้อมูลราคาซื้อ-ขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปยังสมาชิกซึ่งมักจะใช้เครื่องพีซีติดต่อเข้ามาจากที่บ้านหรือที่ทำงาน ข้อมูลจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลที่เครื่องพีซีของผู้ใช้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกดูราคาหุ้น ทั้งหมดหรือหุ้นบางตัวที่สนใจได้โดยไม่ต้องส่งข้อมูลใด ๆ กลับมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแค่ส่งข้อมูลส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงมายังสมาชิกเท่านั้น
                           
                              4.3.2 การถ่ายทอดสัญญาณแบบกึ่งสองทิศทาง           การถ่ายทอดสัญญาณแบบกึ่งสองทิศทาง (Half-duplex Transmission) ยินยอมให้ผู้ส่งสามารถส่งข้อมูลไปยังผู้รับได้และผู้รับก็สามารถส่งข้อมูลกลับมายังผู้ส่งข้อมูลได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าทั้งผู้ส่งและผู้รับจะส่งข้อมูลพร้อมกันไม่ได้ ตัวอย่างได้แก่ การใช้วิทยุสื่อสารของตำรวจ หรือวิทยุ สื่อสารใช้งานทั่วไป (CB Radio) ผู้พูดสามารถพูดไปอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่จะพูดพร้อมกันไม่ได้ คือในขณะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูด อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ฟัง ในระบบนี้ไม่มีการบังคับอย่างชัดเจนว่าฝ่ายใดจะพูด ดังนั้นในการใช้งานจริงจึงต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญมิฉะนั้นก็อาจจะมีแต่ผู้พูดไม่มีใครยอมเป็นผู้ฟัง ในการสื่อสารข้อมูล จะไม่เกิดการแย่งกันส่งข้อมูลเด็ดขาดเนื่องจากการสื่อสารจะต้องมีโพรโทคอลหรือกฎการสื่อสารข้อมูลเป็นตัวบังคับ
                              การสื่อสารแบบกึ่งสองทางซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาใช้งานมากกว่าแบบแรกเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ใช้งานได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเครื่องพีซีเครื่องหนึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังพีซีอีกเครื่องหนึ่งได้ ส่วนพีซีที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลจะต้องรอจนกว่าพีซีผู้ส่งหยุดส่งข้อมูลและปล่อยให้สายสื่อสารเป็นอิสระเสียก่อน จึงจะสามารถส่งข้อมูลกลับไปได
                              การใช้งานโมเด็มนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อย คือในระหว่างที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอยู่นั้นผู้ใช้ระบบจะต้องเสียเวลาไปส่วนหนึ่งเรียกว่าเวลาการปรับตัวของโมเด็ม (Modem Turnaround Time) ในทุกครั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนทิศทางการส่งข้อมูล “จากผู้ส่งไปยังผู้รับ” กลับมาเป็น “จากผู้รับไปยังผู้ส่ง” หรือกลับกัน เวลาการปรับตัวของโมเด็มคือเวลาที่โมเด็มแต่ละเครื่องปรับสภาพการทำงานจากการทำหน้าที่ส่งข้อมูล (Transmission Mode) ไปเป็นการทำหน้าที่รับข้อมูล (Receiving Mode) หรือกลับกัน ปกติช่วงเวลานี้จะกินเวลาประมาณ 20 ถึง 100 มิลลิวินาที การติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์สองเครื่องผ่านโมเด็มจะเกิดกระบวนการเรียกว่า กระบวนการประสานมือ (Handshaking) เพื่อทำให้โมเด็มทั้งสองเครื่องนั้นรู้จักกันและสามารถเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น